อุทยานแห่งชาติเขาสก

อุทยานแห่งชาติเขาสก มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอพนมและอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพพื้นที่เป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน พื้นที่ราบมีน้อย พื้นที่ส่วนหนึ่งด้านทิศเหนือบริเวณคลองพระแสงเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ประกอบไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาดินและภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะช่องแคบเขากาเลาะ มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมระเกะระกะ มีแนวหน้าผาสูงชันบางแห่งเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศคล้ายหอคอยสูง ที่ราบมีไม่มาก มีสภาพป่าเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์มากเป็นป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำตาปี จุดสูงสุดมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 960 เมตร โดยเฉลี่ยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร และลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวปนทรายมีสีแดง บางแห่งเป็นดินลูกรังแต่มีส่วนน้อย

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสกได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฝั่ง คือทั้งด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน จนถึงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี และจะตกชุกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน ช่วงที่เหมาะในการเข้าไปชมอุทยานแห่งชาติเขาสกจะอยู่ในระหว่างเดือนธันวาคม – เมษายน ของทุกปี

สัตว์ป่าประกอบไปด้วยสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้าง กวาง เสือ หมี สมเสร็จ ชะนี ลิง เลียงผา นกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น กบทูด และพันธุ์ปลาที่หายากประจำถิ่น ได้แก่ ปลามังกร รวมถึงในอดีตเคยมีบันทึกว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกระซู่ ด้วย โดยในปลายปี พ.ศ. 2508 มีพรานท้องถิ่นสามารถยิงกระซู่ได้ในปลักกลางป่า ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2530 สืบ นาคะเสถียร ได้ลงพื้นที่สำรวจค้นหาโดยใช้เวลา 10 วัน ไม่เจอตัว แต่ได้พบร่องรอยเมื่อฤดูฝนปีที่ผ่านมา

สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้นมีพรรณไม้มีค่า เช่น โดแหลม ตะเคียน ยาง ตาเสือ หงอนไก่ กระบาก ยมหอม อินทนิน ฯลฯ และยังประกอบด้วยพันธุ์ไม้พื้นล่างมากมาย ที่น่าสนใจ ได้แก่ “บัวผุด” เป็นพันธุ์ไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ไม้ที่ขึ้นปะปนกันระหว่างพันธุ์ไม้ในเขตภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ

บ่าง หรือ พุงจง หรือ พะจง ในภาษาใต้ หรือ ปักขพิฬาร

บ่าง หรือ พุงจง หรือ พะจง ในภาษาใต้ หรือ ปักขพิฬาร สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกหนึ่งในอันดับบ่าง มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ พบได้แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ ผิวหนังย่น ตามีขนาดใหญ่สีแดง ใบหูเล็ก มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว สีขนมีหลากหลายมาก โดยสามารถเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำตาลแดง หรือเทา รวมทั้งอาจมีลายเลอะกระจายไปทั่วตัวด้วย โดยตัวเมียมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ หางมีลักษณะแหลมยาว มีพังผืดเชื่อมติดต่อกันทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้ว มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว โดยที่ไม่มีหัวแม่มือ เล็บแหลมคมมากใช้สำหรับไต่และเกาะเกี่ยวต้นไม้ มีความยาวหัวและลำตัวโตเต็มที่ราว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร น้ำหนัก 1-1.8 กิโลกรัม

บ่างอาศัยและหากินอยู่บนต้นไม้สูง และสามารถอาศัยได้ในป่าทุกสภาพ ไม่เว้นแม้กระทั่งป่าเสื่อมโทรม หรือตามเรือกสวนไร่นาที่มีการทำเกษตรกรรม บ่างเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถเดินบนพื้นดินได้ เมื่อตกลงพื้นจะรีบกระเสือกกระสนตัวเองปีนขึ้นสู่ต้นไม้ทันที เนื่องจากบ่างก็สามารถตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อชนิดต่าง ๆ ได้ ออกหากินในเวลากลางคืน โดยตอนกลางวันจะนอนหลับพักผ่อนตามยอดไม้หรือโพรงไม้ กินอาหารจำพวกพืช ได้แก่ ยอดไม้, ดอกไม้ เป็นหลัก แต่จากการศึกษาด้วยเครื่องติดตามตัวของบ่างที่เกาะชวา โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่า บ่างเป็นสัตว์ที่ช่างเลือกกิน โดยจะกินยอดไม้จากต้นไม้เพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น และบ่างตัวเมียจะมีอาณาเขตการหากินที่ชัดเจน แน่นอน ส่วนตัวผู้จะไต่ต้นไม้และร่อนไปทั่ว บ่างสามารถร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นหนึ่งได้ไกลกว่ากระรอกบินมาก โดยใช้นิ้วและผังผืดเป็นตัวควบคุมความเร็วและระยะทางระหว่างร่อน ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 60 วัน ออกลูกครั้งละตัว เนื่องจากแม่บ่างสามารถรับน้ำหนักลูกได้เพียงคราวละตัว ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดีคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนเดิม โดยลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่น ลูกบ่างจะกินมูลของแม่ เนื่องจากภายในมีแบคทีเรียที่ช่วยในการย่อยอาหาร ขณะที่แม่บ่างเมื่อเลียตัวทำความสะอาดลูกอาจเลียฉี่ของลูกบ่างไปด้วย ลูกบ่างจะเกาะอาศัยอยู่กับแม่จนกว่าอายุได้ 2-3 ปี จึงแยกตัวออกไปหากินเองเป็นอิสระ จากนั้นแม่บ่างจึงจะมีลูกใหม่ แต่พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของบ่างยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัด

อุทยานแห่งชาติปางสีดา

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 41 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวมครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือประมาณ 844 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะเป็นที่ศึกษาเรื่องสัตว์ป่าที่สำคัญ เพราะมีสัตว์ป่าหายากและนก กว่า 300 ชนิด เช่น นกเงือก นกยูง ฯลฯ รวมถึงมีแหล่งจระเข้น้ำจืด ซึ่งเชื่อว่าเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ประมาณร้อยละ 95 ภูมิประเทศส่วนใหญ่ครอบคลุมไปด้วยพื้นที่ป่า เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก โดยมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 – 878 เมตร มียอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารหลายสาย

ลักษณะป่ามีทั้งลักษณะของ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ชนิดของพรรณไม้ที่พบอยู่ทั่วไป ได้แก่ พญาไม้ มะขามป้อมดง สนสามพันปี กำลังเสือโคร่งยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน กระบาก ยางปาย เคี่ยมคะนอง เป็นต้น พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น เต็ง รัง เหียง พลวง มะขามป้อม รกฟ้า เป็นต้น

มีสัตว์ป่าหายากรวมทั้งนกไม่ต่ำกว่า 300 ชนิด อาศัยอยู่ ตัวอย่างสัตว์ป่าที่พบได้แก่ช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เก้ง กวางป่า กระจง ชะนีมงกุฎ นากเล็กเล็บสั้น เม่นแผงคอใหญ่ นกเงิอก นกยูง ปลาชนิดต่างๆ ฯลฯ

แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติปางสีดา เช่น จุดชมวิว กม.25 ทุ่งหญ้าบุตาปอด น้ำตกแควมะค่า น้ำตกแดงมะค่าและน้ำตกสวนมั่นสวนทอง น้ำตกถ้ำค้างคาว น้ำตกทับเทวา น้ำตกท่ากะบาก น้ำตกธารพลับพลึง น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกหน้าผาใหญ่ ภูเขาเจดีย์

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอปากพลี อำเภอบ้านนา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และ อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย และได้รับสมญานามว่าเป็น “อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน”

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พืชพรรณมี 3,000 ชนิด,นกมี 250 ชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด ซึ่งได้แก่ ช้าง เสือ ชะนี กวาง และหมูป่า พบอยู่ตามทุ่งหญ้ากว้างทั่วๆ ไป

ในสมัยก่อน การเดินทางติดต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสานนั้น มีอุปสรรคคือจะต้องผ่านป่าดงดิบขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายมากมายทั้งสัตว์ร้ายและไข้ป่า ผู้คนที่เดินทางผ่านป่านี้ล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้ขนานนามว่า ดงพญาไฟ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านในคราวเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ทรงเห็นว่าชื่อดงพญาไฟนี้ ฟังดูน่ากลัว จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นดงพญาเย็นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ชาวบ้านก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่กัน โดยเฉพาะบนยอดเขา โดยถางป่าเพื่อทำไร่ และในปี 2465 ได้ขอจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ แต่ด้วยการที่จะเดินทางมายังยอดเขานี้ค่อนข้างลำบากห่างไกลจากการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ตำบลเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของโจรผู้ร้าย จนกระทั่งปี 2475 ทางราชการได้ส่งปลัดจ่างมาปราบโจรผู้ร้ายจนหมด แต่สุดท้ายปลัดจ่างก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ได้ตั้งเป็นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือจนปัจจุบันนี้

หลังจากปราบโจรผู้ร้ายหมดลงแล้ว ทางราชการเห็นว่าตำบลเขาใหญ่นี้ยากแก่การปกครอง อีกทั้งปล่อยไว้จะเป็นแหล่งซ่องสุมโจรผู้ร้ายอีก จึงได้ยุบตำบลเขาใหญ่ และให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเขาทั้งหมดย้ายลงมาอาศัยอยู่ข้างล่าง ป่าที่ถูกถางเพื่อทำไร่นั้นปัจจุบันคือยังมีร่องรอยให้เห็นเป็นทุ่งหญ้าโล่งๆ บนเขาใหญ่นั่นเอง

วันมหิดล วันที่ 24 กันยายนของทุกปี

วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493

เมื่อปี พ.ศ. 2503 ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาณ จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช มีดำริให้จัดทำของที่ระลึกขึ้น เพื่อมอบเป็นสิ่งตอบแทน แก่ผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาล เป็นธงรูปสามเหลี่ยม ทำจากผ้าต่วนสีขาว พิมพ์ภาพพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ล้อมรอบด้วยอักษรข้อความ “ที่ระลึกวันมหิดล – วันที่ ๒๔ กันยายน” อยู่ส่วนบน และข้อความ “โรงพยาบาลศิริราช” อยู่ส่วนล่าง โดยทั้งหมดเป็นสีเขียว สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป และแถบริบบินสีต่างๆ พิมพ์ภาพ(อยู่ซ้ายมือ)และข้อความ(เป็นแนวตรงเรียงแถวสามบรรทัดอยู่ขวามือ)เช่นเดียวกับบนผืนธง สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ซึ่งทางโรงพยาบาลมอบหมายให้สโมสรนักศึกษาแพทย์ จัดสรรแก่หน่วยนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ที่อาสาออกรับเงินบริจาคในวันที่ 24 กันยายนเพียงวันเดียว แต่ก็ได้รับบริจาคมาเป็นเงิน 69,758 บาท 45 สตางค์

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ยอดสูงสุดของภูสอยดาวสูงจากระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร ซึ่งสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย อุทยานแห่งนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกภูสอยดาว เป็นน้ำตก 5 ชั้น และการผจญภัยขึ้นสู่ลานสนสามใบอันสวยงาม มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1,000 ไร่ มีความสวยงามมาก มีถนนลาดยาง เข้าถึงพื้นที่ทำให้สะดวกสบายในการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว แต่เดิมเป็นวนอุทยานภูสอยดาว ได้สำรวจจัดตั้งเป็นวนอุทยานภูสอยดาว โดยสำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 มีพื้นที่เพียง 20,000 ไร่ จนกระทั่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 กรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกทำการสำรวจพื้นที่ เพิ่มเติมเพื่อผนวกเข้ากับพื้นที่เดิมของวนอุทยานภูสอยดาว ผลการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และในเขตป่าไม้ถาวรตามป่าภูสอยดาวท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ป่าภูสอยดาว ท้องที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ตามมติคณะรัฐมนตรีได้เนื้อที่รวม 48,962.5 ไร่ หรือ 78.34 ตารางกิโลเมตร

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกได้ขอจัดตั้งวนอุทยานภูสอยดาวเป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ได้รายงานให้กรมป่าไม้ทราบว่า พื้นที่วนอุทยานภูสอยดาวเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเห็นสมควรที่จะรักษาพื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถผนวกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จนกระทั่งปี 2551 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การแรกนาขวัญซึ่งกระทำโดยราชสำนัก

ในประเทศไทย การแรกนาขวัญซึ่งกระทำโดยราชสำนักนั้นประกอบด้วยพิธีสองอย่างตามลำดับ คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีพุทธซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งกระทำสืบเนื่องมาแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบัน เรียกวันแรกนาขวัญว่า วันพืชมงคล ซึ่งจัดไม่ตรงกันทุกปีสุดแต่สำนักพระราชวังจะกำหนด วันพืชมงคลยังเป็นวันเกษตรกรไทย เพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรรมในเศรษฐกิจไทย และเป็นวันหยุดราชการด้วย แต่ไม่เป็นวันหยุดธนาคาร

เป็นพิธีทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี

เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นพิธีพราหมณ์มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ. 2479 ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใด ๆ จึงว่างเว้นไป 10 ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. 2490 จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง 23 ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวันสำคัญของชาติ

อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ครอบคลุมพื้นที่ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่าน

อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ครอบคลุมพื้นที่ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ในท้องที่อำเภอนาน้อยและอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าดิบเขา และป่าดิบแล้ง นอกจากนี้ยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถานซึ่งจะบานสะพรั่งในช่วงฤดูหนาวของทุกปี

ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความสูงชัน ทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีแนวสันเขาของดอยแปรเมืองเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ สูง 120-1,726 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นต้นกำเนิดของลำธารและลำห้วยหลายสาย เช่น น้ำสา น้ำถา น้ำแหง น้ำแม่สาคร เป็นต้น

ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดเดือนพฤษภาคม 25 องศาเซลเซียส ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเดือนมกราคม 5 องศาเซลเซียส

ตราด เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทย

จังหวัดตราด เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ติดต่อกับจังหวัดจันทบุรีและประเทศกัมพูชา ตราดนับเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายอยุธยา สินค้าที่ส่งออกขายยังแดนไกล โดยเฉพาะของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ ไม้หอม และเครื่องเทศต่าง ๆ ล้วนมาจากเขตป่าเขาชายฝั่งทะเลตะวันออก แถบระยอง จันทบุรี ตราด โดยลำเลียงสินค้าผ่านมาตามแม่น้ำเขาสมิง ออกสู่ปากอ่าวตราด

ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า เมืองตราดมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร แต่เท่าที่ค้นพบใน สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ปีพ.ศ. 1991-2031) ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงเป็น บ้านเมือง ครั้งใหญ่ขึ้น โดยจัดแบ่งการ บริหารราชการแผ่นดิน ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนกลางประกอบไปด้วย ฝ่ายทหาร และ พลเรือน ส่วนภูมิภาคแบ่งเมืองต่างๆ ออกเป็น หัวเมืองเอก หัวเมืองโทหัวเมืองตรี และหัวเมืองจัตวางตามลำดับอย่างไร ก็ตามในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็ไม่ปรากฏชื่อของเมืองตราด แต่อย่างใดเพียงแต่บอกว่า”หัวเมืองชายทะเลหรือ บรรดาหัวเมืองชายทะเล” เท่านั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ปรากฏว่า บรรดาหัวเมืองชายทะเลแถบตะวันออกนั้นเรียกแต่เพียงว่า”บ้านบางพระ” ในตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา

ได้ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่าบรรดาเสนาบดีจัตุสดมภ์ทั้งหลาย ได้พากันแบ่งหัวเมือง ต่างๆ ให้ไปขึ้นกับสมุหนายก สมุหพระกลาโหมและโกษาธิบดี ทำการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศ ทางทะเล หลักฐานอีกทางหนึ่งเชื่อว่าคำว่า”ตราด” นี้อาจจะมีชื่อเรียกเพี้ยนมาจาก “กราด” อันเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งสำหรับใช้ทำไม้กวาด ซึ่งในสมัยก่อน ต้นไม้ชนิดนี้มักจะมีมากทั่วเมืองตราดจากหลักฐานต่างๆดังกล่าวมาแล้วนี่ เองจึงทำให้ชื่อว่า “เมืองตราด” เป็นเมืองที่มีชื่อเรียกกันมาอย่างนี้กว่า 300 ปีมาแล้ว และ เป็นเมืองสำคัญซึ่งขึ้นอยู่กับฝ่ายการคลังของประเทศมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองแล้ว จนกระทั่งก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310

จังหวัดลำปางเดิมชื่อ “เมืองนครลำปาง” จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์

จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน มีชื่อเรียกอย่างหลากหลายตั้งแต่ เขลางค์นคร, เวียงละกอน, นครลำปาง ฯลฯ ในภายหลังเป็นที่รู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองรถม้า ที่สัมพันธ์กับเอกลักษณ์ของลำปาง ลำปางตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มรอบล้อมด้วยหุบเขาจากทุกด้าน ทำให้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำวังที่มีต้นน้ำอยู่ที่ตอนเหนือ บริเวณอำเภอวังเหนือ ที่ไหลลงจากเหนือสู่ใต้ พื้นที่ราบที่กว้างใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณตอนกลางนั่นคือ บริเวณอำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา และอำเภอห้างฉัตร

จังหวัดลำปางเดิมชื่อ “เมืองนครลำปาง” จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ. 2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า “ลคอร” ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้