Tag Archives: พุงจง

บ่าง หรือ พุงจง หรือ พะจง ในภาษาใต้ หรือ ปักขพิฬาร

บ่าง หรือ พุงจง หรือ พะจง ในภาษาใต้ หรือ ปักขพิฬาร สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกหนึ่งในอันดับบ่าง มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ พบได้แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ ผิวหนังย่น ตามีขนาดใหญ่สีแดง ใบหูเล็ก มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว สีขนมีหลากหลายมาก โดยสามารถเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำตาลแดง หรือเทา รวมทั้งอาจมีลายเลอะกระจายไปทั่วตัวด้วย โดยตัวเมียมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ หางมีลักษณะแหลมยาว มีพังผืดเชื่อมติดต่อกันทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้ว มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว โดยที่ไม่มีหัวแม่มือ เล็บแหลมคมมากใช้สำหรับไต่และเกาะเกี่ยวต้นไม้ มีความยาวหัวและลำตัวโตเต็มที่ราว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร น้ำหนัก 1-1.8 กิโลกรัม

บ่างอาศัยและหากินอยู่บนต้นไม้สูง และสามารถอาศัยได้ในป่าทุกสภาพ ไม่เว้นแม้กระทั่งป่าเสื่อมโทรม หรือตามเรือกสวนไร่นาที่มีการทำเกษตรกรรม บ่างเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถเดินบนพื้นดินได้ เมื่อตกลงพื้นจะรีบกระเสือกกระสนตัวเองปีนขึ้นสู่ต้นไม้ทันที เนื่องจากบ่างก็สามารถตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อชนิดต่าง ๆ ได้ ออกหากินในเวลากลางคืน โดยตอนกลางวันจะนอนหลับพักผ่อนตามยอดไม้หรือโพรงไม้ กินอาหารจำพวกพืช ได้แก่ ยอดไม้, ดอกไม้ เป็นหลัก แต่จากการศึกษาด้วยเครื่องติดตามตัวของบ่างที่เกาะชวา โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่า บ่างเป็นสัตว์ที่ช่างเลือกกิน โดยจะกินยอดไม้จากต้นไม้เพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น และบ่างตัวเมียจะมีอาณาเขตการหากินที่ชัดเจน แน่นอน ส่วนตัวผู้จะไต่ต้นไม้และร่อนไปทั่ว บ่างสามารถร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นหนึ่งได้ไกลกว่ากระรอกบินมาก โดยใช้นิ้วและผังผืดเป็นตัวควบคุมความเร็วและระยะทางระหว่างร่อน ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 60 วัน ออกลูกครั้งละตัว เนื่องจากแม่บ่างสามารถรับน้ำหนักลูกได้เพียงคราวละตัว ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดีคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนเดิม โดยลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่น ลูกบ่างจะกินมูลของแม่ เนื่องจากภายในมีแบคทีเรียที่ช่วยในการย่อยอาหาร ขณะที่แม่บ่างเมื่อเลียตัวทำความสะอาดลูกอาจเลียฉี่ของลูกบ่างไปด้วย ลูกบ่างจะเกาะอาศัยอยู่กับแม่จนกว่าอายุได้ 2-3 ปี จึงแยกตัวออกไปหากินเองเป็นอิสระ จากนั้นแม่บ่างจึงจะมีลูกใหม่ แต่พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของบ่างยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัด