Category Archives: วันสำคัญ

วันมหิดล วันที่ 24 กันยายนของทุกปี

วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493

เมื่อปี พ.ศ. 2503 ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาณ จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช มีดำริให้จัดทำของที่ระลึกขึ้น เพื่อมอบเป็นสิ่งตอบแทน แก่ผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาล เป็นธงรูปสามเหลี่ยม ทำจากผ้าต่วนสีขาว พิมพ์ภาพพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ล้อมรอบด้วยอักษรข้อความ “ที่ระลึกวันมหิดล – วันที่ ๒๔ กันยายน” อยู่ส่วนบน และข้อความ “โรงพยาบาลศิริราช” อยู่ส่วนล่าง โดยทั้งหมดเป็นสีเขียว สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป และแถบริบบินสีต่างๆ พิมพ์ภาพ(อยู่ซ้ายมือ)และข้อความ(เป็นแนวตรงเรียงแถวสามบรรทัดอยู่ขวามือ)เช่นเดียวกับบนผืนธง สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ซึ่งทางโรงพยาบาลมอบหมายให้สโมสรนักศึกษาแพทย์ จัดสรรแก่หน่วยนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ที่อาสาออกรับเงินบริจาคในวันที่ 24 กันยายนเพียงวันเดียว แต่ก็ได้รับบริจาคมาเป็นเงิน 69,758 บาท 45 สตางค์

การแรกนาขวัญซึ่งกระทำโดยราชสำนัก

ในประเทศไทย การแรกนาขวัญซึ่งกระทำโดยราชสำนักนั้นประกอบด้วยพิธีสองอย่างตามลำดับ คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีพุทธซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งกระทำสืบเนื่องมาแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบัน เรียกวันแรกนาขวัญว่า วันพืชมงคล ซึ่งจัดไม่ตรงกันทุกปีสุดแต่สำนักพระราชวังจะกำหนด วันพืชมงคลยังเป็นวันเกษตรกรไทย เพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรรมในเศรษฐกิจไทย และเป็นวันหยุดราชการด้วย แต่ไม่เป็นวันหยุดธนาคาร

เป็นพิธีทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี

เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นพิธีพราหมณ์มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ. 2479 ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใด ๆ จึงว่างเว้นไป 10 ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. 2490 จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง 23 ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวันสำคัญของชาติ