Category Archives: ท่องเที่ยว

พระเจ้าอุทุมพรผนวชที่วัดธรรมิกราชพร้อมด้วยมหาดเล็กชื่อนายหง

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรผนวชที่วัดนี้พร้อมด้วยมหาดเล็กชื่อนายหง โดยตั้งพระทัยว่าถ้าบ้านเมืองเกิดศึกจะออกไปช่วยรบ ต่อมาเมื่อทัพข้าศึกยกมาถึงตำบลภูเขาทอง นายหงลาสิกขาก่อนออกรบและแตกพ่ายไปเข้ากับพระยาตาก (สิน) เมื่อกู้อิสรภาพแล้วต่อมาได้รับพระราชทานเป็นพระยาเพชรพิชัยจนต่อสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ บุตรของพระยาเพชรพิชัยที่รับราชการต่อมาก็เป็นพระยาเพชรพิชัยสืบมา จนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๕) ภริยาพระยาเพชรพิชัยตามเสด็จมาที่วัดเกิดศรัทธาจึงบูรณะวัดขึ้น ในสมัยที่พระครูธรรมิกาจารคุณ (ฟัก) เป็นเจ้าอาวาส โดยบูรณะพระอุโบสถและพระวิหารใหม่และจะขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีสวรรคตก่อน มีสถานที่ตั้งเครื่องรับเสด็จและบ่อน้ำโบราณศักดิ์สิทธิ์ของวัด ประมาณปี๒๔๘๔ พระอุโบสถเดิมพระประธานเป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ผนังด้านตะวันออกเขียนเป็นภาพพุทธประวัติโดยนายช่างแข ก่อนจะทรุดตัวลง

หลังคาได้ทรุดลงมาก่อนทางวัดได้มุงสังกระสีไว้ ยังไม่ทันบูรณะผนังพระอุโบสถก็ทรุดพังลง ทางวัดเตรียมการจะบูรณะ แต่ทางกรมศิลปากรได้เข้ามาซ่อมแทน เดิมเขตกฎีสงฆ์ที่เป็นเขตสังฆาวาสนั้นอยู่หลังพระอุโบสถติดกับศาลพระเจ้าธรรมิกราช สมัยที่นายปรีดีพนมยงค์สร้างวัดพนมยงค์นั้น เริ่มทำการบูรณะพระวิหารมงคลบพิตรแล้วจะนำช่างชุดเดียวกันมาบูรณะ วัดธรรมิกราชต่อ แต่มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น ต่อมาสมัยจอมพลแปลกพิบูลสงคราม เป็นนายก ฯ ได้มาสร้างกำแพงวัดปูพื้นพระวิหารพระนอนและกุฏิสงฆ์ ยังไม่แล้วเสร็จก็เกิดเหตุทางการเมืองขึ้นอีกจนกรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการต่อ

เศียรพระพุทธรูปหล่อสำฤทธิ์เป็นศิลปะสมัยอู่ทอง เดิมอยู่ในวิหารหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก กล่าวว่าผู้ใดเป็นคดีความกันมาสาบานต่อหน้าพระพักตร์คนผิดต้องตายหรือมีอันเป็นไปทุกคนเป็นที่กล่าวขานกันมาก สมัยที่พระยาโบราณราชธานินทร์ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังจันทรเกษม ได้นำเศียรพระพุทธรูปนี้ไป ต่อมากรมศิลปากรจึงนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ความศักดิ์สิทธิ์จึงคลายไป

วัดมหาพฤฒาราม เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

วัดมหาพฤฒารามเป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองผดุงกรุงเกษม แต่เดิมในช่วงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดนี้แต่เดิมชื่อว่า “วัดท่าเกวียน” เนื่องจากเคยเป็นที่พักแรมของกองเกวียน ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ แต่ต่อมาชาวบ้านก็พากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดตะเคียน” สันนิษฐานว่า เรียกชื่อวัดตามต้นตะเคียนที่ขึ้นหนาแน่นอยู่รอบบริเวณวัดที่มีอาณาบริเวณถึง 14 ไร่

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เคยอยู่ในเพศบรรพชิตได้เสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดนี้ ในคราวนั้น พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า “จะได้เป็นเจ้าชีวิตในเร็วๆนี้” พระองค์จึงมีรับสั่งว่า “ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่” หลังจากนั้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ ในเวลาต่อมาจึงโปรดให้พระราชทานสมณะศักดิ์ พระอธิการแก้วเป็น “พระมหาพฤฒาจารย์” และโปรดให้สร้างพระอารามใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2397 จนถึง พ.ศ. 2409 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองในการสถาปนา ต่อมาเมื่อทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นในพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า “วัดมหาพฤฒาราม”

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร รั้วเหล็กล้อมเป็นกำแพง

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ท้วม บุนนาค เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในฐานะเป็น อัครราชทูตพิเศษเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาใน พ.ศ. 2423 เมื่อกลับถึงเมืองไทยในปีเดียวกันได้เล่าว่า ตนพบรั้วเหล็กล้อมเป็นกำแพงเมืองหลายแห่งในกรุงลอนดอนรั้วเหล็กเหล่านั้นมีรูปลักษณะเช่นเดียวกับรั้วเหล็กที่วัดประยุรวงศาวาส

หน้าบัน ลายดอกบุนนาค พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมทรงไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ส่วนพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยเช่นกัน ในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธนาค หลวงพ่อนาค ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย อายุกว่า 700 ปี

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค ยังได้สร้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ ถือว่าเป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2398 ต่อมา พ.ศ. 2425 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ วร บุนนาค ได้ให้ซ่อม พระวิหาร เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา ปิดทองประดับกระจกใหม่ ซ่อมศาลาและพระอุโบสถใหม่ ซึ่งในปีถัดมาพระองคฺได้เสด็จมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดประยุรวงศานี้

การสร้างวัดได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2371 สร้างอยู่ 8 ปี จึงสำเร็จในปี พ.ศ. 2379 ได้มีการฉลองวัดในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ดังหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ว่า

“ครั้นลุถึงศักราช 1198 ปีวอก อัฐศก เป็นปีที่ 13 ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ เจ้าพระยาพระคลังมีการฉลองวัดประยุรวงศาวาส พระสงฆ์ในวัดได้ปืนเปรียมกระสุน 5 นิ้วชำรุดหูพะเนียงทิ้งอยู่ในวัดบอก1 เอาทำไฟพะเนียงจุด….”

“วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 วันนี้มีการฉลองวัดอันงดงามของสมเด็จองค์ใหญ่บิดาของท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีการมหรสพมากมายหลายอย่าง ประชาชนมาประชุมกันมากมาย หลายพัน ทั้งชาวพระนครและสัญจรมาจากที่ต่างๆ ของประเทศ…”

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร หรือชื่อลำลองว่า วัดท้ายตลาด

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร หรือชื่อลำลองว่า วัดท้ายตลาด เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่าวัดท้ายตลาดเนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่

ในสมัยธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล ส่วนพระวิหาร สันนิษฐานว่าได้ใช้เป็นฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในพระวิหารกั้นเป็น 2 ตอน ปัจจุบัน ตอนหน้าที่หันออกคลองบางกอกให้ ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นหมู่บนฐานชุกชี ส่วนตอนหลังเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ในรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดโมลีโลกยสุธาราม” ภายหลังมาเรียกกันว่า “วัดโมลีโลกยาราม”

วัดโมลีโลกยารามเคยเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่มีผู้สอบได้เปรียญธรรมมากเป็นระดับต้น ๆ ของประเทศ

ที่ตั้ง พระราชวังเดิม ซอยวังเดิม 6 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นดำริห์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นที่แสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบในเมืองกำแพงเพชร และที่มีผู้มอบให้เพื่อเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณวัตถุส่วนมากเป็นลวดลายปูนปั้นและลวดลายดินเผา เศียรพระพุทธรูป เครื่องสังคโลก ปูนปั้นรูปยักษ์เทวดา และมนุษย์ซึ่งใช้ประดับฐานเจดีย์ หรือติดตั้งวิหาร ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในเวลาราชการทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 นาฬิกา ค่าเข้าชมชาวไทยเก็บ 10 บาท ชาวต่างประเทศมากกว่าชาวไทย 20 บาท คือ 30 บาท

ศาลพระอิศวร ตั้งอยู่ด้านหลังศาลจังหวัด เป็นฐานก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมยกพื้นสูง 1.5 เมตร มีบันไดขึ้นด้านหน้า บนฐานชุกชีอยู่เป็นที่ตั้งของเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ซึ่งจำลองขึ้นในสมัยที่นายเชาวน์วัศ สุดลาภาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เทวรูปพระอิศวรองค์จริงปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร รูปพระอิศวรนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวเยอรมันมาเที่ยวเมืองกำแพงเพชร ได้ลักลอบตัดเศียรและพระหัตถ์ส่งลงเรือมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2429 เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้บอกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร จึงโปรดฯ ให้ขอพระเศียรและพระหัตถ์คืน และได้ทรงสร้างพระอิศวรจำลองประทานให้ ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์กรุงเบอร์ลิน

วัดพระแก้ววัดพระแก้วตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญอยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อนสูงประมาณเมตรเศษแผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพงเพชร กำแพงวัดขาดเป็นตอน ๆ สิ่งก่อสร้างภายในใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ตรงกลางของวัดมีพระเจดีย์กลมแบบลังกาองค์ใหญ่เป็นประธาน ฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีสิงห์ยืนอยู่ในคูหาแต่ชำรุดหมด วัดพระแก้วนี้หลังจากขุดแต่งแล้วปรากฏว่า พบฐานเจดีย์แบบต่างๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหารใหญ่และเล็ก 8 วิหาร ฐานโบสถ์ 3 แห่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นวัดใหญ่ และสำคัญมากมาก่อน ปัจจุบันงานนบพระเล่นเพลง และงานวันสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ก็จัดให้มีขึ้นในบริเวณวัดพระแก้วแห่งนี้

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีพื้นที่ครอบคลุมอยุ่ในท้องที่อำเภอสิเกา และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่ทางทะเลอันดามัน ประกอบด้วยป่าชายเลน หญ้าทะเล เกาะแก่ง มีหาดทรายขาวนวลเรียงยาวไปตามผืนแผ่นดินกว่า 20 กิโลเมตร และสนทะเลตามธรรมชาติอันสวยงาม อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 144,292.35 ไร่ หรือ 230.87 ตารางกิโลเมตร

วนอุทยานแหลมหยงลำได้มีหนังสือส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นวนอุทยานแหลมหยงลำเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณากำหนดที่ดินบริเวณแหลมหยงลำเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเห็นสมควรให้กำหนดพื้นที่แหลมหยงลำ หาดยาว หาดสั้น หาดเจ้าไหม และหาดปากเมง เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าคลองไหโละ ป่าคลองปอ และป่าคลองกันตัง ในท้องที่ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา ตำบลบ่อน้ำร้อน ตำบลบางสัก ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พื้นที่ 144,300 ไร่ หรือ 230.88 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 170 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 36 ของประเทศไทย

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่บางส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติป่าคลองไหโละ ป่าคลองปอ และป่าคลองกันตัง ในท้องที่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2532 ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที่152 ลงวันที่ 13 กันยายน 2532 จำนวน 0.012 ตารางกิโลเมตร เพื่อทำการก่อสร้างโรงเรียนบ้านหาดยาว ของสำนักงานประถมศึกษาอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในปัจจุบันคงเหลือเพียง 230.868 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติเขาสก

อุทยานแห่งชาติเขาสก มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอพนมและอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพพื้นที่เป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน พื้นที่ราบมีน้อย พื้นที่ส่วนหนึ่งด้านทิศเหนือบริเวณคลองพระแสงเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ประกอบไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาดินและภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะช่องแคบเขากาเลาะ มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมระเกะระกะ มีแนวหน้าผาสูงชันบางแห่งเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศคล้ายหอคอยสูง ที่ราบมีไม่มาก มีสภาพป่าเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์มากเป็นป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำตาปี จุดสูงสุดมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 960 เมตร โดยเฉลี่ยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร และลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวปนทรายมีสีแดง บางแห่งเป็นดินลูกรังแต่มีส่วนน้อย

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสกได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฝั่ง คือทั้งด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน จนถึงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี และจะตกชุกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน ช่วงที่เหมาะในการเข้าไปชมอุทยานแห่งชาติเขาสกจะอยู่ในระหว่างเดือนธันวาคม – เมษายน ของทุกปี

สัตว์ป่าประกอบไปด้วยสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้าง กวาง เสือ หมี สมเสร็จ ชะนี ลิง เลียงผา นกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น กบทูด และพันธุ์ปลาที่หายากประจำถิ่น ได้แก่ ปลามังกร รวมถึงในอดีตเคยมีบันทึกว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกระซู่ ด้วย โดยในปลายปี พ.ศ. 2508 มีพรานท้องถิ่นสามารถยิงกระซู่ได้ในปลักกลางป่า ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2530 สืบ นาคะเสถียร ได้ลงพื้นที่สำรวจค้นหาโดยใช้เวลา 10 วัน ไม่เจอตัว แต่ได้พบร่องรอยเมื่อฤดูฝนปีที่ผ่านมา

สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้นมีพรรณไม้มีค่า เช่น โดแหลม ตะเคียน ยาง ตาเสือ หงอนไก่ กระบาก ยมหอม อินทนิน ฯลฯ และยังประกอบด้วยพันธุ์ไม้พื้นล่างมากมาย ที่น่าสนใจ ได้แก่ “บัวผุด” เป็นพันธุ์ไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ไม้ที่ขึ้นปะปนกันระหว่างพันธุ์ไม้ในเขตภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ

อุทยานแห่งชาติปางสีดา

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 41 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวมครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือประมาณ 844 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะเป็นที่ศึกษาเรื่องสัตว์ป่าที่สำคัญ เพราะมีสัตว์ป่าหายากและนก กว่า 300 ชนิด เช่น นกเงือก นกยูง ฯลฯ รวมถึงมีแหล่งจระเข้น้ำจืด ซึ่งเชื่อว่าเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ประมาณร้อยละ 95 ภูมิประเทศส่วนใหญ่ครอบคลุมไปด้วยพื้นที่ป่า เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก โดยมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 – 878 เมตร มียอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารหลายสาย

ลักษณะป่ามีทั้งลักษณะของ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ชนิดของพรรณไม้ที่พบอยู่ทั่วไป ได้แก่ พญาไม้ มะขามป้อมดง สนสามพันปี กำลังเสือโคร่งยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน กระบาก ยางปาย เคี่ยมคะนอง เป็นต้น พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น เต็ง รัง เหียง พลวง มะขามป้อม รกฟ้า เป็นต้น

มีสัตว์ป่าหายากรวมทั้งนกไม่ต่ำกว่า 300 ชนิด อาศัยอยู่ ตัวอย่างสัตว์ป่าที่พบได้แก่ช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เก้ง กวางป่า กระจง ชะนีมงกุฎ นากเล็กเล็บสั้น เม่นแผงคอใหญ่ นกเงิอก นกยูง ปลาชนิดต่างๆ ฯลฯ

แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติปางสีดา เช่น จุดชมวิว กม.25 ทุ่งหญ้าบุตาปอด น้ำตกแควมะค่า น้ำตกแดงมะค่าและน้ำตกสวนมั่นสวนทอง น้ำตกถ้ำค้างคาว น้ำตกทับเทวา น้ำตกท่ากะบาก น้ำตกธารพลับพลึง น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกหน้าผาใหญ่ ภูเขาเจดีย์

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอปากพลี อำเภอบ้านนา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และ อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย และได้รับสมญานามว่าเป็น “อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน”

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พืชพรรณมี 3,000 ชนิด,นกมี 250 ชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด ซึ่งได้แก่ ช้าง เสือ ชะนี กวาง และหมูป่า พบอยู่ตามทุ่งหญ้ากว้างทั่วๆ ไป

ในสมัยก่อน การเดินทางติดต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสานนั้น มีอุปสรรคคือจะต้องผ่านป่าดงดิบขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายมากมายทั้งสัตว์ร้ายและไข้ป่า ผู้คนที่เดินทางผ่านป่านี้ล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้ขนานนามว่า ดงพญาไฟ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านในคราวเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ทรงเห็นว่าชื่อดงพญาไฟนี้ ฟังดูน่ากลัว จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นดงพญาเย็นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ชาวบ้านก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่กัน โดยเฉพาะบนยอดเขา โดยถางป่าเพื่อทำไร่ และในปี 2465 ได้ขอจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ แต่ด้วยการที่จะเดินทางมายังยอดเขานี้ค่อนข้างลำบากห่างไกลจากการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ตำบลเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของโจรผู้ร้าย จนกระทั่งปี 2475 ทางราชการได้ส่งปลัดจ่างมาปราบโจรผู้ร้ายจนหมด แต่สุดท้ายปลัดจ่างก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ได้ตั้งเป็นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือจนปัจจุบันนี้

หลังจากปราบโจรผู้ร้ายหมดลงแล้ว ทางราชการเห็นว่าตำบลเขาใหญ่นี้ยากแก่การปกครอง อีกทั้งปล่อยไว้จะเป็นแหล่งซ่องสุมโจรผู้ร้ายอีก จึงได้ยุบตำบลเขาใหญ่ และให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเขาทั้งหมดย้ายลงมาอาศัยอยู่ข้างล่าง ป่าที่ถูกถางเพื่อทำไร่นั้นปัจจุบันคือยังมีร่องรอยให้เห็นเป็นทุ่งหญ้าโล่งๆ บนเขาใหญ่นั่นเอง

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ยอดสูงสุดของภูสอยดาวสูงจากระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร ซึ่งสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย อุทยานแห่งนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกภูสอยดาว เป็นน้ำตก 5 ชั้น และการผจญภัยขึ้นสู่ลานสนสามใบอันสวยงาม มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1,000 ไร่ มีความสวยงามมาก มีถนนลาดยาง เข้าถึงพื้นที่ทำให้สะดวกสบายในการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว แต่เดิมเป็นวนอุทยานภูสอยดาว ได้สำรวจจัดตั้งเป็นวนอุทยานภูสอยดาว โดยสำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 มีพื้นที่เพียง 20,000 ไร่ จนกระทั่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 กรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกทำการสำรวจพื้นที่ เพิ่มเติมเพื่อผนวกเข้ากับพื้นที่เดิมของวนอุทยานภูสอยดาว ผลการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และในเขตป่าไม้ถาวรตามป่าภูสอยดาวท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ป่าภูสอยดาว ท้องที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ตามมติคณะรัฐมนตรีได้เนื้อที่รวม 48,962.5 ไร่ หรือ 78.34 ตารางกิโลเมตร

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกได้ขอจัดตั้งวนอุทยานภูสอยดาวเป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ได้รายงานให้กรมป่าไม้ทราบว่า พื้นที่วนอุทยานภูสอยดาวเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเห็นสมควรที่จะรักษาพื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถผนวกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จนกระทั่งปี 2551 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา